สัญญาห้ามทำงาน หรือประกอบกิจการ คู่แข่งทางการค้ากับนายจ้าง

          "สัญญาห้ามทำงานกับคู่แข่ง" หรือประกอบกิจการคู่แข่งทางการค้ากับนายจ้างมักเรียกว่า "สัญญาควบคุมงาน" หรือ "Non-Compete Agreement" ซึ่งเป็นข้อตกลงทางกฎหมายระหว่างนายจ้างและพนักงานหรือผู้รับจ้างที่ระบุว่าบุคคลในสัญญาจะไม่ทำงานหรือประกอบกิจการในธุรกิจที่เป็นคู่แข่งกับนายจ้าง ห้ามทำงานกับคู่แข่งทางการค้าของนายจ้างหรือกิจการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการประกอบกิจการค้าในลักษณะเดียวกัน รวมถึงการไปดำเนินการเปิดกิจการหรือประกอบกิจการที่มีลักษณะแบบเดียวกันกับนายจ้างด้วย (ประกอบกิจการแข่งกับนายจ้าง) ในระยะเวลาที่ระบุในสัญญาหรือในบริเวณที่ระบุในสัญญาหลังจากสิ้นสัญญางาน โดยมักจะกำหนดระยะเวลา 1-2 ปี เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสัญญาดังกล่าวเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างลูกจ้งกับนายจ้าง หากลูกจ้างได้ดำเนินการเซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้ว ข้อสัญญาห้ามไปทำงานกับคู่แข่งดังกล่าว ย่อมมีผลบังคับใช้ได้ และสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย หากลูกจ้างฝ่าฝืนข้อสัญญาดังกล่าว นายจ้างมีสิทธิดำเนินคดีโดยฟ้องเป็นคดีแพ่งในศาลแรงงานเพื่อเรียกค่าเสียหายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3580/2561

          ข้อตกลงตามหนังสือเป็นเพียงข้อจำกัดห้ามการประกอบอาชีพอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับนายจ้างโดยจำกัดประเภทธุรกิจไว้อย่างชัดเจน มิได้เป็นการห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้ของลูกจ้างอย่างเด็ดขาด ลักษณะข้อตกลงเช่นนี้ไม่ใช่การตัดการประกอบอาชีพของลูกจ้างทั้งหมด เพียงแต่เป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับนายจ้างเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจ ไม่เป็นการปิดทางทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ตกเป็นโมฆะ

          แต่เมื่อคำนึงถึงทางได้เสียทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว การจำกัดสิทธิเป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ลูกจ้างพ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน นับว่าทำให้ลูกจ้างผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงเห็นสมควรให้มีผลบังคับได้เพียง 1 ปี นับจากวันที่ลูกจ้างพ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 14/1 และพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 5

 

ที่มา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน