สัญญาจ้างแรงงาน

สัญญาคืออะไร ?

ปพพ. มาตรา ๕๗๕ บัญญัติว่า "อันว่าสัญญาจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะจ่ายสินจ้างให้ตลอดระยะเวลาที่ทำงานให้"

ในขณะที่ พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ บัญญัติว่า "สัญญาจ้างแรงงาน หมายความว่า สัญญาไม่ว่าจะเป็นหนังสือ หรือด้วยวาจาระบุชัดเจน หรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยายซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ทำงานให้"

จากนิยามของกฎหมาย ๒ ฉบับจึงเห็นได้ว่า "สัญญาจ้างแรงงาน" มีลักษณะที่สำคัญคือ

1.ต้องเป็นข้อตกลงระหว่างฝ่ายนายจ้าง กับฝ่ายลูกจ้าง

2.ฝ่ายลูกจ้างตกลงว่าจะ "ทำงาน" หรือใช้แรงงานให้แก่ฝ่ายนายจ้าง โดยฝ่ายนายจ้างจะจ่าย "ค่าจ้าง" ตอบแทน สัญญาจ้างแรงงานจึงเป็นสัญญา "ต่างตอบแทน" เป็นการเอา "แรงงานไปแลกกับเงินค่าจ้าง" ดังนั้น หากนายจ้างไม่มอบหมายงาน แต่ลูกจ้างพร้อมจะทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานนายจ้างก็ยังมี "หนี้" ที่จะต้องชำระหนี้ค่าจ้างตอบแทน

3.สัญญาจ้างแรงงานอาจเกิดขึ้นโดย

ก) มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือ

ข) ตกลงกันด้วยวาจา หรือ

ค) เกิดขึ้นโดยปริยาย

สัญญาการจ้างงาน คือสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เป็นการกำหนดหรือเป็นตกลงเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง

นายจ้าง = จะต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้ จะได้มากน้อยแค่ไหนก็และแต่จะตกลงกัน

ลูกจ้าง = จะทำงานให้แก่นายจ้าง นอกจากนี้จะต้องซื่อสัตย์ เพื่อรักษาประโยชน์ของนายจ้าง นั่นคือ ไม่นำข้อมูลเกี่ยวกับงบดุล ลูกค้า หรือราคาของบริษัทไปเผยแพร่หรือทำงานในกิจการอย่างเดียวกันในสถานประกอบการที่เป็นคู่แข่ง

สัญญาจ้างแรงงานแม้จะไม่ได้มีการตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร แต่นายจ้างให้ลูกจ้างมาช่วยทำงานแม้ไม่มีการทำเป็นหนังสือสัญญาจ้างแรงงาน ก็ถือว่ามี "สัญญาจ้างแรงงาน" เกิดขึ้นแล้ว

นอกจากนั้นสัญญาจ้างแรงงานอาจเกิดขึ้นโดย "ปริยาย" ก็ได้ กล่าวคือ ไม่มีการพูดตกลง หรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่อาจเกิดขึ้นโดยพฤติการณ์ว่านายจ้างตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานและพร้อมจะจ่ายค่าจ้างให้

 

ข้อแนะนำก่อนที่จะเริ่มทำงานควรที่จะตกลงเกี่ยวกับการจ้างงานให้ชัดเจน

ตามกฎหมายแล้วนายจ้างมีหน้าที่

  • จัดทำสัญญาการจ้างงานเป็นลายลักษณ์อักษร ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน หลังจากที่ได้เริ่มงานตามที่ตกลงกันไว้ โดยจัดทำเป็นสองฉบับ
  • ลงลายมือชื่อ (เซ็นชื่อ) ในสัญญาดังกล่าว
  • มอบให้แก่ลูกจ้าง อ่านพิจารณา และลงลายมือชื่อรับรอง
  • เมื่อทั้งสองฝ่ายเซ็นชื่อในสัญญาแล้ว แต่ละฝ่ายจะเก็บสัญญาการจ้างงานไว้คนละฉบับ

เนื้อหาของสัญญาการจ้างงาน (ดูตัวอย่าง)

1.ชื่อและที่อยู่ของคู่สัญญา คือทั้งของนายจ้างและลูกจ้าง

2.ระยะเวลาจ้างงาน ต้องระบุเวลาที่เริ่มทำงาน

ตัวอย่าง 

เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 หากว่าเป็นการจ้างงานที่มีระยะเวลากำหนดเช่น 2 ปี หรือ 3 ปี ต้องระบุเวลาการจ้าางานให้ชัดเจน เช่น ระยะเวลาการจ้างงาน 2 ปี เริ่มทำงานตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ถึง วันที่ 30 มิถุนายน 2565

3.สถานที่ทำงาน ว่าจะให้ทำงานที่ไหน ในกรณีที่ลูกจ้างอาจต้องไปทำงานหลายๆที่ ต้องระบุไว้ด้วยว่า ลูกจ้างอาจจะต้องไปทำงานในสถานประกอบการอื่นด้วย

4.ลักษณะงานที่ลูกจ้างจะต้องทำ อาจะเป็นการระบุกว้างๆ เช่น ลูกจ้างจะทำงานในตำแหน่งพนักงานเสิร์ฟ

5.อัตราค่าจ้างรวมไปถึงเงินพิเศษต่างๆ ที่จะได้ด้วย เช่นเงินเพิ่มเติมกรณีที่อยู่เมืองใหญ่หรือ เงินพิเศษให้เป็นค่ารถ เงินโบนัส เป็นต้น และต้องระบุด้วยว่า จะจ่ายเมื่อไหร่ ทุกๆวันสิ้นเดือน หรือ วันที่ 15 ของทุกเดือน

6.ระยะเวลาการทำงาน ว่าทำงานวันละกี่ชั่วโมงต่อวัน รวมทั้งหมดกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เช่นทำงานทั้งสิ้น 30 ชั่วโมง ต่ออาทิตย์ๆละ 4 วัน เป็นต้น

7.วันหยุดพักผ่อนรายปี ระบุว่า แต่ละปีลูกจ้างจะได้วันหยุดพักผ่อนกี่วัน ซึ่งต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

8.การบอกเลิกจ้าง การบอกเลิกสัญญา และระยะเวลาล่วงหน้าที่ต้องบอกในกรณีที่จะเลิกสัญญา ซึ่งระบุไว้ว่า การจะบอกเลิกสัญญาจ้างหรือบอกเลิกสัญญาการจ้าง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนายจ้างหรือลูกจ้าง จะต้องทำอย่างไร และระยะเวลาที่ต้องบอกล่วงหน้ามีระยะเท่าไหร่ เช่น นายจ้างต้องแจ้งเป็นลักษณ์อักษรล่วงหน้า 30 วันเป็นต้น

 

อาจจะมีข้อตกลงอื่น ที่นอกเหนือไปจากนี้ด้วยก็ได้ เช่น ระบุถึงเรื่องเงินค่าทำงานล่วงเวลา ข้อตกลงกรณีเจ็บป่วย ข้อบังคับที่ลูกจ้างต้องพึงกระทำ เช่นห้ามไปทำงานให้คนอื่น หรือทำงานหลายที่พร้อมกัน ต้องรักษาความลับของบริษัท เป็นต้น

ไม่มีสัญญาจ้างแรงงาน แต่อาจตกลงด้วยวาจาหรือโดยปริยาย แล้วจะใช้หลักฐานอะไร?

1.ข้อมูลการโอนเงิน หรือจ่ายเงินสดลูกจ้างก็อาจถ่ายภาพตอนรับเงินเดือนก็ได้

2.การส่งประกันสังคม หลักฐานต่างๆ ที่อยู่กับประกันสังคม โดยเฉพาะรายละเอียดการส่งเงินสมทบ

3.พยานบุคคล

4.รายละเอียดการทำงานที่ลูกจ้างทำ เช่น ทำเอกสาร หรืออีเมลล์ของนายจ้าง การขอใช้สิทธิวันหยุด

5.วิถีชีวิตประจำวันย่อมก่อให้เกิดพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

6.หาพยานหลักฐานเอง

7.การเก็บข้อมูล ควรส่งอีเมลล์เก็บไว้ด้วย เพื่อป้องกันข้อมูลหาย

 

การบอกเลิกสัญญาการจ้างงาน

การบอกเลิกสัญญาการจ้างงาน สามารถกระทำได้ทั้งจากฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง

ศึกษาเงื่อนไขการบอกเลิกสัญญาการจ้างงาน ที่ระบุไว้ในสัญญาการจ้างงานให้เข้าใจ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับระยะเวลาที่จะต้องแจ้งนายจ้างล่วงหน้า ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการฟ้องร้องกันในศาลแรงงาน หากว่าในสัญญาการจ้างงานไม่ได้ระบุระยะเวลาที่ต้องบอกล่วงหน้า ก็ขอให้ถือตามกฑหมายว่าด้วยระยะเวลาที่ต้องบอกล่วงหน้าในกรณีที่จะบอกเลิกสัญญาการจ้างงาน คือ 4 สัปดาห์ จนถึงวันที่ 15 หรือวันสุดท้ายของเดือน การบอกเลิกสัญญาการจ้างงานในช่วงระยะทดลองงาน ระยะดังกล่าว อยู่ที่ 14 วัน

 

ขอขอบคุณที่มา

เขียนสัญญาจ้างแรงงาน ตอนที่ ๑ : เพจ กฎหมายแรงงาน

เขียนสัญญาจ้างแรงงาน ตอนที่ ๒ : เพจ กฎหมายแรงงาน

เพจ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ใส่ใจบัญชีและภาษี