ลดเงินเดือน ไม่โต้แย้ง = ยอม

“ลดเงินเดือน-ลดสวัสดิการ” ไม่คัดค้านเท่ากับ “ยินยอม” – สิ่งที่ลูกจ้างต้องรู้ก่อนสายเกินไป

          ในยุคที่เศรษฐกิจผันผวน หลายบริษัทอาจต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด หนึ่งในวิธีที่มักเกิดขึ้นคือการ "ลดเงินเดือน" หรือ "เปลี่ยนสภาพการจ้างที่แย่ลง" เช่น ลดวันทำงาน ตัดสวัสดิการ หรือลดตำแหน่งหน้าที่
แม้หลายคนจะเข้าใจว่าไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ในทางกฎหมายแล้ว “การไม่คัดค้าน” เท่ากับ “ยอมรับ” ซึ่งส่งผลกระทบในระยะยาวอย่างคาดไม่ถึง

          หากนายจ้างมีหนังสือแจ้งลดค่าจ้างหรือเปลี่ยนเงื่อนไขการจ้าง แล้วคุณยังคงทำงานต่อโดยไม่แสดงความเห็นใด ๆ หรือไม่มีหลักฐานคัดค้านไว้ ทางกฎหมายอาจตีความว่า “คุณยินยอมโดยปริยาย”
          มีคดีหนึ่งที่ลูกจ้างรับเงินเดือนที่ถูกลดลงต่อเนื่องนาน 9 เดือนโดยไม่เคยคัดค้าน จนสุดท้ายเมื่อนำคดีไปสู่การพิจารณา ศาลถือว่าลูกจ้าง ยินยอม ให้ลดเงินเดือนแล้ว จึงนำอัตราเงินเดือนใหม่มาใช้คำนวณเงินชดเชย

หากคุณไม่ยินยอมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง

1. ทำหนังสือคัดค้านเป็นลายลักษณ์อักษร

  • ระบุให้ชัดเจนว่า ไม่ยินยอมให้ลดค่าจ้าง หรือ เปลี่ยนสภาพการจ้าง

  • ส่งถึงนายจ้างโดยตรง และเก็บสำเนาไว้เป็นหลักฐาน

  • หากส่งทางอีเมล ควรแนบหลักฐานการส่งหรือขอการตอบรับจาก HR

2. ร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงาน

  • เพื่อให้มี “หลักฐานทางราชการ” ว่าคุณไม่ยินยอม

  • เจ้าหน้าที่อาจเรียกทั้งสองฝ่ายมาเจรจา หรือช่วยไกล่เกลี่ยในเบื้องต้น

การเปลี่ยนแปลงแบบไหนเข้าข่าย “เปลี่ยนสภาพการจ้าง”?

  • ลดเงินเดือน / ลดค่าตอบแทนอื่น ๆ

  • ลดวันทำงาน / ชั่วโมงทำงาน

  • ย้ายตำแหน่งหรือสถานที่ทำงานโดยไม่มีเหตุผลจำเป็น

  • ตัดสวัสดิการ เช่น เบี้ยขยัน ค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล

หากการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ส่งผลให้คุณได้รับผลประโยชน์น้อยลง ย่อมถือเป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้าง และ คุณมีสิทธิที่จะไม่ยอมรับ

 

ที่มา กฎหมายแรงงาน