นำสถิติการหยุดงานและลางานของลูกจ้างมาพิจารณาจ่ายโบนัส และปรับค่าจ้าง สามารถนำมาปฏิบัติได้หรือไม่ ?

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10194-10195/2559

ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

             ข้อ 1 กำหนดว่า “ ทั้งสองฝ่ายตกลงปรับค่าจ้างประจำปี โดยเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการปรับจากสภาพการจ้างเดิม คือ แบ่งผลการประเมินออกเป็น 5 เกรด A B C D E และใช้ค่าเฉลี่ยของดัชนีผู้บริโภคทั่วไป...ดังนี้ A = CPI + 60%...E = CPI – 60%...

             ข้อ 2 กำหนดว่า “ทั้งสองฝ่ายตกลงใช้การประเมินผลการปฏิบัติงานชุดเดียวกับการปรับค่าจ้างประจำปีเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาจ่ายเงินโบนัส โดยเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ่ายเงินโบนัสประจำปีจากสภาพการจ้างเดิมเป็น 5 เกรด เช่นเดียวกับการปรับค่าจ้างประจำปี...”

             ดังนั้น การปรับค่าจ้างและการได้รับเงินโบนัสประจำปี 2555 ตามที่ลูกจ้างเรียกร้องจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี 2555 ละข้อ 6 กำหนดให้มีการประเมินคะแนนการมาทำงานด้วย และมีการกำหนดคะแนนที่ได้รับกรณีหยุดงานและวันหยุดงานไว้อย่างชัดเจน เช่น ลาป่วย หรือ ลากิจ หรือขาดงาน 1 – 3 วัน จะได้คะแนน 5 คะแนน หยุดงาน 4 – 6 วัน จะได้คะแนน 4 คะแนน เป็นต้น

             และแม้ข้อตกลงฯ จะไม่มีการกำหนดเปอร์เซ็นต์การลดโบนัสและการปรับค่าจ้างประจำปีไว้โดยละเอียดก็ตาม แต่ข้อตกลงฯ ข้อ 20 กำหนดให้สภาพการจ้างอื่นใดที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้คงไว้ตามเดิม แสดงว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวมีความมุ่งหมายให้นำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เคยใช้ในการพิจารณาปรับค่าจ้างประจำปีในปีก่อนคือปี 2554 มาใช้เป็นหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาโบนัสและการปรับค่าจ้างประจำปี 2559

            ซึ่งเมื่อประกาศที่ใช้ในการปรับค่าจ้างประจำปี 2554 มีการกำหนดตารางการพิจารณาลดโบนัสและลดเปอร์เซ็นต์การปรับค่าจ้างไว้ก่อนแล้ว ประกาศการจ่ายโบนัสและการปรับค่าจ้างของจำเลยปี 2555 ก็ปรากฏมีหลักเกณฑ์ เงื่อนไข อัตราเดียวกับประกาศปี 2554 จึงมิใช่กรณีนายจ้างออกประกาศขัดแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างประการใด

            ดังนั้นหลักเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ ตามประกาศของนายจ้างจึงเป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง มีผลผูกพันลูกจ้างกับนายจ้างและใช้บังคับได้

 

ที่มา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน