ค่าชดเชย ผ่อนได้

          ว่าด้วยเรื่องเงินชดเชย  หลายคนยอมรับข้อเสนอการแบ่งจ่ายค่าชดเชยเพราะเห็นใจกันและกันในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ แต่ หากถึงงวดจ่ายแล้วไม่ได้ตามตกลง น้องบีพลัสขอแนะนำสิทธิเบื้องต้น

  • เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยที่ไม่มีเหตุตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 119 นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างตามอัตราที่ระบุไว้ใน พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 118
  • ตามกฎหมายค่าชดเชย จ่ายวันที่เลิกจ้างและไม่สามารถผ่อนค่าชดเชยเป็นงวด ๆ ได้ มิเช่นนั้นนายจ้างจะต้องจ่ายดอกเบี้ยในส่วนที่ค้างจ่ายค่าชดเชย ร้อยละ 15 ต่อปี พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 9
  • กรณีที่นายจ้างไม่สามารถชำระเต็มจำนวน นายจ้างอาจจะทำข้อตกลงกับลูกจ้างโดยขอผ่อนจ่ายได้(กฎหมายไม่ได้ห้าม) กรณีลูกจ้างทำข้อตกลงโดยในข้อตกลงมีข้อความว่าลูกจ้างยินยอมผ่อนจ่ายค่าชดเชยก็สามารถทำได้ เพราะการตกลงผ่อนจ่ายไม่ใช่ข้อตกลงว่าไม่จ่าย และหากตกลงผ่อนชำระแล้วไม่ชำระตามที่ตกลงกันลูกจ้างก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าชดเชยนั้นได้ (ฎีกาที่ 15780/2555)
  • การทำข้อตกลงกับลูกจ้างโดยขอผ่อนจ่ายค่าชดเชยจึงสามารถบังคับกันได้ไม่ตกเป็นโมฆะ เพราะลูกจ้างมีอิสระในการตัดสินใจ ไม่อยู่ภายใต้ปังคับของนายจ้าง
  • ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ทำให้หนี้ค่าชดเชยระงับไป กลายเป็นหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
  • หากนายจ้างไม่ชำระตามสัญญาก็สามารถฟ้องร้องบังคับที่ศาลแรงงานได้ แต่จะไปยืนคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานให้ออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายไม่ได้ เพราะเงินตามสัญญาดังกล่าวมิใช่เงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานแล้ว         

          กล่าวโดยสรุปคือ  การตกลงผ่อนจ่ายค่าชดเชยสามารถกระทำได้เพราะไม่ได้เป็นข้อตกลงที่ขัดกับข้อกฎหมายแต่อย่างใด และไม่ได้เป็นการตกลงระงับสิทธิ์ของลูกจ้างไม่ให้ได้รับค่าชดเชย  กรณีที่ลูกจ้างได้รับค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมาตรา 118 ไม่ครบถ้วน ตามที่กฎหมายกำหนดลูกจ้างสามารถใช้สิทธิ์ฟ้องได้ที่ศาลแรงงาน (ฏ.15780/2555)

 

ที่มา คลินิกกฎหมายแรงงาน