OTOP โอกาสทางการค้าในยุค New Normal

OTOP โอกาสทางการค้าในยุค New Normal

                    สินค้า OTOP (One Tambon One Product) ของไทย เป็นสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มคนในชุมชน ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมในพื้นที่แบบมีลักษณะเฉพาะชัดเจน จึงเป็นจุดแข็ง จุดขายที่สำคัญ รวมไปถึงมีศักยภาพในการส่งออกสูง ภายใต้การผลักดันของรัฐบาลผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ จนสามารสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ และสินค้ากลายเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง เครื่องประดับ สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ของตกแต่งที่มีเอกลักษณ์ตัวตนท้องถิ่นชัดเจน

                  จากข้อมูลกรมการพัฒนาชุมชน โดยสินค้าในโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ โอทอป (OTOP) รายงานว่า รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายให้มีมูลค่าการค้าสินค้าโอทอปเพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนล้านบาทภายในปีงบประมาณ 2563 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ยอดขายอยู่ที่ 2.7 แสนล้านบาท ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งสินค้าโอทอปมีมูลค่าการจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

                 หากแต่สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เข้ามาทำให้เศรษฐกิจสะดุดหยุดชะงักลงไปในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้โอกาสที่จะดันสินค้าโอทอปไทยให้ผงาดไปตามแผนของรัฐบาลตามกรอบงบประมาณปี 2563 ที่วางไว้ต้องสะดุด จากการล็อกดาวน์เศรษฐกิจทำให้ยอดขายผลิตภัณฑ์สินค้าโอทอปไทย ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2563 หดหายไปเกือบ 30,000 ล้านบาท คำนวณจากยอดขายรวมสินค้าผลิตภัณฑ์โอทอปทั้งปีทั่วประเทศ จากเครือข่ายโอทอปไทยประมาณกว่า 90,000 ราย ที่สามารถทำยอดขายได้ประมาณ 100,000 ล้านบาท เนื่องจากไม่สามารถจำหน่ายสินค้าในช่องทางการตลาด เช่น งานอีเวนต์ที่ภาครัฐให้การสนับสนุน ตลาดประชารัฐ ฯลฯ ได้ตามปกติ

OTOP ไทยกับโอกาสทางการค้าที่ต้องปรับตัว

              ตามสภาพความเป็นจริงที่ผ่านมา สินค้าโอทอปของไทยที่เป็นแบรนด์ไทยและแบรนด์ท้องถิ่น กลายเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก และหลายผลิตภัณฑ์ หลายแบรนด์มีชื่อเสียง จนได้รับความนิยมในกลุ่มคนต่างประเทศ เช่น กระทิงแดง,มวยไทย อย่างไรก็ตามพบว่าสินค้าโอทอปไทยยังมีจุดอ่อนสำคัญ 3 ประการ คือ

1. แพ็คเกจจิ้งและความหลากหลาย กล่าวคือมีเพียงสินค้า 40% จากสินค้าโอทอปไทยกว่า 20,000 รายการที่ได้รับความนิยม ที่เหลือกลายเป็นสินค้าที่ไม่มีเอกลักษณ์โดดเด่น มีลักษณะใกล้เคียงกันมาก ไม่มีการสร้างความแตกต่าง หรือ Story ที่ชวนจำ ไปจนถึงบรรณจุภัณฑ์หีบห่อไม่สวยงามและทันสมัย

2. ขาดความเข้าใจในการทำตลาดและการสร้างแบรนด์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตสินค้าโอท็อปเกิดภาวะขาดทุน จากการขาดความรู้ความเข้าใจและทักษะทางการเดินเกมการตลาด การตั้งราคา และเพิ่มมูลค่าสินค้า จึงทำให้ขาดทุนต่อเนื่อง

3. ช่องทางการจำหน่ายไม่ชัดเจน สินค้าโอทอปได้รับการแจ้งเกิดผ่านพื้นที่ตลาดงานแฟร์ โรดโชว์ และงานอีเว้นท์ต่างๆ ที่มีหน่วยงานภาครัฐสนับสนุน ทำให้การทำการตลาดสินค้าโอทอป ยังคงยึดติดผูกขาดอยู่กับการช่วยเหลือของภาครัฐ ผู้ผลิตสินค้าไม่มีการรุกทำตลาดเอง ทำให้ไม่สามารถสร้างช่องทางการกระจายสินค้าหรือสร้างรายได้ด้วยตัวเองผ่านรูปแบบอื่นได้    ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงสินค้า เมื่อต้องการกลับมาซื้อซ้ำก็ไม่สามารถตามเจอได้ ทำให้ขาดโอกาสในการจำหน่าย

            หากวันนี้ระบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่สามารถกลับไปดำเนินได้เหมือนเดิม ก่อนที่โควิด-19 จะเข้ามา กลุ่มผู้ผู้ประกอบการสินค้าโอทอปจำต้องลุกขึ้นมาปรับตัว เสริมแกร่งติดอาวุธให้ธุรกิจตัวเองได้เดินหน้าต่อไป จากที่จะมุ่งเน้นขายสินค้าตามงานโรคโชว์ที่คงทำได้ยากขึ้น ในสภาพความเป็นจริงที่ว่าผู้คนไม่กล้าพาตัวเองออกไปในพื้นที่สาธารณะที่มีคนพลุกพล่านเหมือนเคย ด้วยความวิตกกังวลว่าจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 กลับเข้ามาบ้านโดยไม่รู้ตัว การจะเข้าเดินชมสินค้าตามงานดังกล่าวจึงอาจได้รับความนิยมลดลง จากการปรับตัวสู่ New Normal ของผู้คนหลังจากนี้

            ผู้ประกอบการต้องมีการศึกษานำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเป็นเครื่องมือทางการตลาด เพื่อรองรับโอกาสที่อาจเกิดขึ้นได้ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเข้ามาสู่ประเทศไทย หากต้องปรับเข้าสู่การจัดจำหน่ายสินค้างานแฟร์ออนไลน์เสมือนจริงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่มีความเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้

            นอกจากนี้ต้องปรับนำสินค้าขึ้นวางขายบนแพลตฟอร์มมาร์เก็ต ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของโอทอปไทยหรือแพลตฟอร์มมาร์เก็ตทั่วไปที่เปิดให้บริการใช้พื้นที่ขาย ไปจนถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบแพ็คเกจจิ้ง สร้างภาพลักษณ์ให้ดูทันสมัย บนแหล่งขายที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคภายในประเทศและต่างประเทศสามารถเข้าถึงสินค้าโอท็อปไทยได้ง่ายภายใต้การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป

           เพราะหากบรรยากาศเดิมๆ ไม่กลับมา และไม่มีหนทางที่จะกำจัดโรคโควิด-19 ให้หมดไปจากโลกได้จริงๆ โครงการสินค้าโอทอปของไทยที่รัฐบาลพยายามปลุกปั้นมาหลายยุคสมัย เพื่อโชว์เอกลักษณ์ของวิถีท้องถิ่น จะได้ไม่ถูกกลืนหายไปพร้อมกับเศรษฐกิจชุมชนที่สะดุด หยุดชะงัก ขาดรายได้หมุนเวียนในชุมชน เพราะไม่สามารถทำตลาดแบบเดิมได้ ทั้งๆ ที่ยังมีประตูโอกาสเกื้อหนุนอยู่มากทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

          ทั้งนี้ภายใต้ความนิยมสินค้าโอทอปของไทยจากชาวต่างชาติ และข้อตกลงเขตการค้าเสรีของไทยกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะ FTA ไทย- และ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ ที่เปิดไฟเขียวให้สินค้าโอท็อปของไทย เช่น ผ้าทอ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ไม้ และของทำด้วยหิน ได้รับการลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือ 0%  และได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences : GSP) จากประเทศคู่ค้าสำคัญอย่าง สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ทำให้สินค้า OTOP ของไทย โดยเฉพาะผ้าไหมพื้นเมือง เครื่องจักสานจากเส้นใยพืช ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องเบญจรงค์ ที่ส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญดังกล่าวเสียภาษีนำเข้าในอัตราลดลงจากอัตราภาษีนำเข้าปกติ อันเป็นจุดแข็งที่ขายได้หากผู้ประกอบการหรือกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกันเพื่อผลิตสินค้าโอทอปมีการปรับตัว ตอบรับเทคโนโลยี และขับเคลื่อนสินค้าผ่านการทำการตลาดที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุค New Normal ได้ด้วยตัวเอง

ที่มา  : BANGKOKBANK SME