FIFO เทคนิคการจัดเก็บวัตถุดิบร้านอาหาร ที่ช่วยลดต้นทุนได้

การทำร้านอาหารหนึ่งร้าน ไม่ใช่เรื่องเล็กๆเลยค่ะ เพราะคุณต้องรู้จักวิธีจัดการกับปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหน้างาน หรือแม้แต่การหาวิธีป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ไม่เว้นแม้แต่เรื่องในครัว เช่น การจัดการวัตถุดิบต่างๆ ถ้ารู้วิธีจัดการที่ถูกต้อง ก็สามารถช่วยลดต้นทุนให้กับร้านอาหารได้ด้วย ลองใช้เทคนิคจัดเก็บวัตถุดิบร้านอาหาร หรือ FIFO ดูค่ะ

FIFO เทคนิคการจัดเก็บวัตถุดิบร้านอาหาร

อย่างที่กล่าวมาว่า ปัญหาเรื่องการจัดการวัตถุดิบในครัวนั้น เป็นปัญหาที่หลายร้านมักเจอ ไม่ว่าจะเป็น อาหารออกไม่ได้เพราะวัตถุดิบหมดสต๊อกแต่ไม่รู้, ลืมใช้วัตถุดิบจนหมดอายุ ทำให้สูญเสียวัตถุดิบโดยเปล่าประโยชน์, วัตถุดิบหาย และไม่มีใครรับผิดชอบ ซึ่งวัตถุดิบทุกอย่างล้วนเป็นต้นทุนร้านอาหารทั้งสิ้น หากเจ้าของร้านยังปล่อยให้เกิดปัญหาแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่แก้ไข ร้านก็อาจจะถึงขั้นต้องปิดตัวลงได้ ดังนั้น จึงควรนำเทคนิค FIFO มาใช้เพื่อให้การจัดเก็บวัตถุดิบร้านอาหารมีประสิทธิภาพมากขึ้น

FIFO คือ?

FIFO ย่อมาจาก First in First out หรือ “มาก่อน ใช้ก่อน” อธิบายง่ายๆ ก็คือ ถ้าวัตถุดิบใดมาส่งก่อน ก็หยิบใช้ก่อน เคล็ดลับง่ายๆ สำหรับการลดต้นทุนร้านอาหาร ซึ่งฟังดูเหมือนจะง่าย แต่บอกเลยว่าอาจจะทำได้ยาก

เพราะร้านอาหารหนึ่งร้านไม่ได้มีวัตถุดิบแค่ชนิดเดียว การสั่งซื้อวัตถุดิบแต่ละครั้งก็ไม่ได้สั่งในยอดเท่าเดิมทุกครั้งไป และเวลาเร่งด่วนพนักงานก็ไม่มาดูหรอกว่าหมูชิ้นไหนเข้ามาที่ร้านก่อน ชิ้นไหนเข้ามาหลัง แต่ดูว่าชิ้นไหนใกล้มือก็จะหยิบก่อน เพื่อให้ออกอาหารได้เร็วที่สุด ดังนั้นแทนที่เจ้าของร้านจะมาคอยบอกพนักงานว่าใช้ชิ้นนั้นก่อน ชิ้นนี้อย่าเพิ่งใช้ ก็คงเหนื่อยและเสียเวลามากๆ ดังนั้น จึงต้องมีการสร้างระบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้พนักงาน และเพื่อควบคุมต้นทุนด้วย

วิธีง่ายๆ ที่ใช้ได้ผลก็คือ การทำแถบสีและหมายเลขกำกับ เมื่อ Supplier มาส่งวัตถุดิบ พนักงานที่ทำหน้าที่ตรวจเช็คและจัดเก็บวัตถุดิบจะต้องนำแถบสีพร้อมหมายเลขเข้าไปติดทันที แถบสีจะช่วยให้คนที่หยิบใช้ รู้ว่าตัวเองหยิบวัตถุดิบถูกต้องหรือเปล่า (โดยไม่ต้องมานั่งอ่านวันหมดอายุให้เสียเวลา) ส่วนหมายเลข จะใช้ในการตรวจสอบว่า เมื่อสิ้นวันจำนวนวัตถุดิบที่ใช้ไปมีประมาณเท่าไหร่ ตรงกับยอดขายวันนั้นหรือไม่ เพื่อเป็นการป้องกันของหายได้ด้วย เช่น ถ้าเนื้อหมูในสต๊อกมีทั้งหมด 10 ชิ้น ชิ้นละ 1 กิโลกรัม เมื่อสิ้นวันเช็คยอด เนื้อหมูเหลืออยู่ 5 ชิ้น เท่ากับว่าใช้เนื้อหมูไป 5 กิโลกรัม เมื่อนำไปเทียบกับยอดขาย พบว่า ยอดใช้เนื้อหมูจริงแค่ 4 กิโลกรัมเท่านั้น อย่างนั้นแล้วเนื้อหมูหายไปไหน 1 กิโลกรัม? (อาจเป็นเพราะเชฟไม่ได้ชั่ง ตวง วัด วัตถุดิบ ทำให้เสิร์ฟเกินปริมาณที่กำหนด หรือเกิดจากการปรุงอาหารผิดพลาด ทำให้ต้องปรุงใหม่ให้ลูกค้า ซึ่งเมื่อเรารู้ต้นเหตุของปัญหา ก็จะทำให้เราแก้ไขได้อย่างตรงจุดค่ะ)

นอกจากการติดแถบสีและหมายเลขกำกับแล้ว การจัดระบบการจัดวางวัตถุดิบก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ร้านอาหารบ้างร้านเลือกใช้ตู้แช่แข็งแบบแนวนอน (แบบตู้แช่น้ำแข็งหรือไอศกรีมในร้านสะดวกซื้อ ที่จะต้องเปิดฝาขึ้นเพื่อหยิบของ) ซึ่งราคาถูกกว่าตู้สแตนเลสแบบแนวตั้ง (ร้านอาหารใหญ่ๆ นิยมใช้) แต่รู้ไหมว่า หากคุณเปลี่ยนรูปแบบตู้แช่ สามารถช่วยทำให้การบริหารจัดการวัตถุดิบ ง่ายกว่าเดิมมากเลยค่ะ

ที่บอกว่าง่ายขึ้นนั้น ง่ายอย่างไร?  หากเป็นตู้แช่แบบแนวนอน เมื่อวัตถุดิบใหม่มาส่ง และคุณอยากใช้ระบบFIFO คุณจำเป็นต้องหยิบของออกจากตู้เย็นที่วางซ้อนทับกันจากด้านล่างขึ้นมา หรือต้องหยิบออกมาจากตู้เย็นทั้งหมด เพื่อนำวัตถุดิบใหม่ใส่ลงด้านล่างและวางวัตถุดิบที่มาก่อนไว้ด้านบน เพื่อจะได้หยิบใช้ได้สะดวก ซึ่งเป็นการเสียเวลามากๆ และการทำแบบนี้บ่อยๆ ทำให้พนักงานต้องก้มๆ เงยๆ (หนึ่งใน 7 การสูญเสียตามหลัก 7 wastes) เสี่ยงต่อการบาดเจ็บอีกด้วย

แต่หากคุณใช้ตู้สแตนเลสแบบแนวตั้ง คุณเพียงกำหนดการจัดเรียงวัตถุดิบให้เหมาะสม เช่น วัตถุดิบใหม่ให้วางฝั่งซ้ายสุด หากจะหยิบใช้ ให้หยิบฝั่งขวาสุดและไล่เรียงไปเรื่อยๆ วิธีนี้จะช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้น อีกทั้งตู้สแตนเลสแนวตั้งยังมีพื้นที่ด้านบนตู้ สามารถใช้เป็นชั้นวางอุปกรณ์ต่างๆ ได้ด้วย (ขณะที่ตู้แบบแนวนอนไม่สามารถวางได้ เพราะต้องเว้นพื้นที่ไว้สำหรับเปิดประตูตู้แช่)

นอกจากนี้ถ้าอยากให้ระบบจัดการวัตถุดิบมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาจจะนำไปพ่วงกับระบบ POS ที่จะช่วยเช็คยอดขายและยอดการใช้วัตถุดิบได้แบบ Real-Time ทำให้รู้ว่าตอนนี้ขายอาหารจานใดไปบ้าง ใช้วัตถุดิบไปเท่าไร และจะเหลือวัตถุดิบในสต๊อกเท่าไร ทำให้ประเมิณการสั่งวัตถุดิบได้อย่างเหมาะสม

 

 

ที่มา :  www.amarinacademy.com