6 เทรนด์ปั้นแบรนด์ ตกลูกค้ายุคดิจิทัล

วิกฤติโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เล่นงานเกือบทุกธุรกิจ เกือบทุกกิจการ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  ปี 2022 ยังคงมีความท้าทายจากสายพันธุ์โอมิครอน หากมองกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ธุรกิจ SMEs ที่มีผู้ประกอบการกว่า 2 ล้านราย นับว่ามีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แต่อุปสรรคและความท้าทาย สถานการณ์โควิดยังคงอยู่กับเราไปถึงปี 2022 แน่นอน จึงจำเป็นต้อง  “พารานอยด์” (Paranoid) และเฝ้าติดตาม ตั้งรับ ปรับตัว เปลี่ยนแปลง เพื่อให้อยู่รอดได้ในปีต่อๆ ไป เพราะคำว่า Only the paranoid survive  ยังเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่จำเป็นต้อง พารานอยด์กับอุปสรรค  สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้  และ “ปรับให้ไว” เพื่ออยู่รอด MI Group ในฐานะ Media Agency ที่ให้คำปรึกษาและช่วยวางแผนกลยุทธ์การตลาดและสื่อสารการตลาด ร่วมกับ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CBS จัดทำคู่มือ  “ปี 2565 SMEs ไทยต้องรอดและรุ่ง” หรือ “2022 Survival Hacks”  สรุปเช็คลิสต์เทคนิคสำคัญๆ ที่ SMEs ต้องรู้ สำหรับปี 2022

5 ปัจจัยพารานอยด์ปี 2022  

1.อัตราว่างงานสูง โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ คาดการณ์ว่าปี 2022 อัตราว่างงานอาจแตะ 2 ล้านคน หรือ 3% ของประชากรไทย ถือว่าเป็นตัวเลขสูงเป็นประวัติการณ์  กระทบกำลังซื้อ ความเชื่อมั่นในการจับจ่าย

2.ความยากลำบากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ การอนุมัติสินเชื่อยากขึ้น ทั้งบุคคลและ SMEs เพราะสถาบันการเงินกลัวหนี้สูญจาก ทำให้ SMEs ขาดเงินทุนพยุงหรือฟื้นธุรกิจ ที่จะช่วยต่อลมหายใจให้ทำธุรกิจต่อไปได้ หากต้องไปกู้นอกระบบ ก็เจอกับภาระดอกเบี้ยสูงมาก ทำให้ไปไม่รอด

3.นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมา คาดการณ์ ปี 2022 นักท่องเที่ยวต่างชาติ กลับมาไม่ถึง 30% หรือต่ำกว่า 10 ล้านคน เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดที่มีจำนวน 40 ล้านคน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวส่งผลต่อจีดีพี ราว 10%  จึงกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

4.สินค้าจีนทำสงครามราคาเดือด เมื่อเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวในปี 2022 บวกกับสินค้าจากจีนทะลักเข้าไทย ทำให้เกิดภาวะสงครามราคา ส่งผลต่อการแข่งขันของเอสเอ็มอี

5.ปัญหาความขัดแย้งทางสังคม การเมืองและความเหลื่อมล้ำ

ปัจจัยท้าทายเหล่านี้ส่งผลต่อธุรกิจทุกระดับการแข่งขันในช่วงหลังวิกฤติโควิด เป็นจุดชี้วัดครั้งสำคัญว่าธุรกิจจะไปต่อในแบบไหน เอาตัวรอดด้วยการตลาดได้อย่างไรในปี 2022

 

เปิดคู่มือ 2022 Survival Hacks ต้องรอดและรุ่ง

สำหรับ SMEs รวมทั้งหลายธุรกิจต้องพารานอยด์และควรรู้ เพื่อตั้งคำถามและตีโจทย์เหล่านี้ให้ได้ คือ สินค้าของเราเป็นที่รู้จักมากพอหรือยัง  จริงๆ ลูกค้าต้องการอะไร พวกเขายังต้องการของเราจริงไหม  การตลาดวิธีเดิม มันคุ้มค่าทุกบาทหรือยัง มีอะไรดีกว่านี้หรือไม่  แม้วันนี้เราผ่านโควิดไปได้ แต่จะเติบโตแค่ไหน ยั่งยืนถึงเมื่อไหร่

เพื่อแก้โจทย์พารานอยด์เหล่านี้ คุณภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทมีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI Group  ได้สรุปเช็คลิสต์ Survival Hacks คู่มือธุรกิจต้องรอดและรุ่ง ไว้ดังนี้

1. Hack สินค้าไม่เป็นที่รู้จัก ตีตลาดแข่งขันสูงไม่ไหว

มี 3 เรื่องหลักต้องทบทวนก่อน

1.สินค้าอาจยังไม่ดีพอ ไม่แตกแต่งพอ หรืออาจไม่มีดีมานด์จริงในตลาด

เพราะในยุคที่ลูกค้ามีความต้องการแตกต่างหลากหลายและมีตัวเลือกเยอะมาก การเลือกสินค้าสักอย่างมาขาย ต้องเลือกสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าและผู้บริโภคได้จริง หาจุดแตกต่างของสินค้า เช่น  สินค้าที่แก้ปัญหาใหม่ๆ ให้ผู้บริโภค หรือแตกต่างที่รูปแบบการขาย การบริโภค การบริการ

2.กลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง คือใคร แท้จริงเราควรขายใครกันแน่

ปัจจุบันหมดยุค One Site Fits All  ต้องพยายามตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น  หรือ Personalized Marketing  การทำความเข้าใจกลุ่มลูกค้าต้องมองให้หลากหลายมิติ เพื่อเลือกช่องทางการสื่อสารให้ตรงกลุ่ม หรือคอนเทนต์ให้โดนใจ

3.ช่องทางการขายของเรา อาจไม่พร้อม โดยเฉพาะทางอีคอมเมิร์ซ

ในยุคที่ต้องเจอกับสถานการณ์โควิด เป็นการกระตุ้นพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในการใช้บริการซื้อสินค้าออนไลน์ มากขึ้นเรื่อย ๆ  เห็นได้จากการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย และกว่า 50% ของมูลค่าตลาดมาจากการซื้อสินค้า ผู้ประกอบการจึงต้องเตรียมความพร้อมช่องทางอีคอมเมิร์ซให้แข็งแรง

ในประเทศไทย ช่องทางที่ได้รับความนิยม คือ อีมาร์เก็ตเพลส และ โซเชียล คอมเมิร์ซ  โดยให้เริ่มต้นจาก 2 ช่องทางนี้ และค่อยๆ ขยายเพิ่ม ตามความถนัด

เช็คลิสต์ สร้าง Winning Strategy – สินค้าขายดี

เมื่อเข้าใจช่องทางขาย สถานการณ์ตลาด รู้ข้อมูลคู่แข่ง และฟังเสียงผู้บริโภคกันแล้ว ก็จะเห็นโอกาสทางธุรกิจและนำมาต่อยอดสร้างธุรกิจใหม่ๆ ได้  โดยมี 3 เช็คลิสต์ เพื่อหา Wining Product และ Winning Strategy

  1. เช็คกระแสนิยม สามารถใช้เครื่อง Google Trend และ Hashtag ทำให้เห็นว่าสินค้าอะไรกำลังเป็นกระแสนิยมในตลาด และดูว่าสินค้าที่เราตั้งใจจะขายมีคนสนใจหรือไม่ ดูได้ทั้งเทรนด์รายเดือน รายไตรมาส เพื่อนำมาวางแผนกลยุทธ์เปิดตัวสินค้าในช่วงที่เหมาะสมได้  รวมทั้งจัดโปรโมชั่น
  2. มอนิเตอร์เสียงผู้บริโภคจากโลกโซเชียล ปัจจุบันมีหลายแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ไอจี ทวิตเตอร์ กระทู้ เพจคู่แข่ง โดยเข้ามาอ่านและศึกษาข้อมูลจากแพลตฟอร์มต่างๆ หรือใช้บริการ Social Listening  ฟังเสียงโลกออนไลน์ วิเคราะห์ข้อมูลโซเชียล จากช่องทางต่างๆ นำมาวิเคราะห์ได้มากขึ้น
  3. เก็บข้อมูลสร้างฐานลูกค้า ในการทำการตลาดหรือโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ ให้เริ่มติด Tag ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อต่อยอดหาลูกค้าเสมือน ที่มีโอกาสเป็นลูกค้าตัวจริงได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการวางกลยุทธ์การตลาดในขั้นตอนต่อไป

2. Hack สินค้ายังตอบโจทย์ลูกค้าหรือไม่

ปัจจุบันผู้บริโภคมีความแตกต่างหลากลาย การทำความเข้าใจความต้องการ เพื่อสื่อสารในสิ่งที่ผู้บริโภคสนใจ จะช่วยสร้างโอกาสให้สินค้าและแบรนด์ของเรามากขึ้น จึงต้องทำความเข้าใจ Subculture ของผู้บริโภคในยุคนี้ คุณวรินทร์ ทินประภา Chief Strategy Officer กลุ่มบริษัทมีเดีย อินเทลลิเจนซ์ สรุปมาไว้ 8 กลุ่มย่อย น่าสนใจ

  1. Health and Fitness จากสถานการณ์ที่คนต้องอยู่บ้าน work from home ช่วงโควิด จึงมีกลุ่มที่ดูแลสุขภาพและสนใจการออกกำลังกายมากขึ้น ธุรกิจฟิตเนส เริ่มเห็นช่องทางการทำ Training Class Online
  2. Sport เป็นกลุ่มเฉพาะเจาะจงที่มีความสนใจกีฬาประเภทต่างๆ มากขึ้น เช่น การรวมตัวของกลุ่มนักวิ่ง  นักปั่นจักรยาน  รวมทั้งสปอร์ตแฟน กีฬาต่างๆ
  3. Automotive กลุ่มคนรักยานยนต์ เช่น คนรักรถสปอร์ต รถไฟฟ้า
  4. Hip hop/ Rapper กลุ่มติดตามศิลปินและแนวเพลงต่างๆ เป็นกระแสที่ได้รับความนิยมจากหลายประเทศรวมทั้งไทย
  5. Pet Lover  คนรักสัตว์เลี้ยง ทั้ง สุนัข แมว อื่นๆ เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ก่อนหน้านี้จะเห็นคาเฟ่สำหรับสัตว์เลี้ยงเกิดขึ้นจำนวนมาก รวมทั้งของใช้ต่างๆ ของสัตว์เลี้ยง
  6. Cooking / Baking ช่วงโควิด WFH เห็นการเปิดตัวของธุรกิจใหม่ที่มาจาก การทำครัวในบ้าน ทั้งร้านอาหาร เบเกอรี่ ที่สามารถต่อยอดธุรกิจให้ครอบครัว และสร้างรายได้พิเศษ
  7. Luxury and Brand name เป็นกลุ่มที่สนใจสะสมแบรนด์เนม ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋า นาฬิกา เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง สามารถศึกษาช่องทางการตลาดเพื่อสร้างโอกาสเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้
  8. FOMO (Fear of Missing Out) กลัวตกกระแส ต้องเรียนรู้ให้ทัน ทำตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์ เช่น เซิร์ฟ สเก็ต คริปโต NFT Metaverse

การเรียนรู้พฤติกรรม Subculture ทำให้นักการตลาดและแบรนด์ สามารถนำมาทำเป็นกลยุทธ์และกิจกรรมทางการตลาดใหม่ๆ ได้ ซึ่งในแต่ละบุคคลอาจมีความสนใจในหลายเรื่อง

เข้าใจพฤติกรรม 2 Gen ที่น่าสนใจ

Gen Y  อายุ 24-41 ปี เป็นกลุ่ม Always on ใช้เวลาอยู่กับโซเชียล มีเดีย มีการอัพเดทเทรนด์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุล เรื่องการวางแผนการใช้ชีวิต การทำงาน การบริหารเงิน ขณะเดียวกันก็พร้อมจ่ายเรื่องที่ความสุขให้กับตัวเอง วันว่างชอบท่องเที่ยว นั่งชิลล์ ร้านกาแฟ แฮงเอาท์  เป็นกลุ่มที่ชอบออกกำลังกาย ดูซีรีส์ออนไลน์ เริ่มสนใจสิ่งแวดล้อม

การเข้าถึงกลุ่มนี้ ลองมองหาสินค้าหรือบริการ ที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม หรือ นำกระแสนิยมจากซีรีส์ มาใช้สร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มนี้

Gen Z อายุ 12-23 ปี เป็น tech savvy ต่างจาก Gen Y ตรงที่มีการใช้โซเชียล แพลตฟอร์มหลากหลาย ไม่ว่าจะมีแพลตฟอร์มอะไรใหม่ๆ กลุ่มนี้จะเปิดรับก่อน มีพฤติกรรมเปิดแอคเคาท์ ยูสเซอร์ มากกว่า 1 แอคเคาน์ ใน 1 แพลตฟอร์ม เช่น ไอจี อาจมี 3 แอคเคาท์ เป็นกลุ่มเกมเมอร์ เล่นเกม ติดตามเกม แคสเตอร์

อีกมุมที่น่าสนใจเป็นเรื่องของ Game Changer เป็นกลุ่มที่ต้องการสร้างค่านิยมใหม่ๆ ที่จะช่วยให้สังคมน่าอยู่ขึ้น  เช่น การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน การใช้พลังงานสีเขียว ความเท่าเทียมทางเพศ  ตัวอย่าง การทำตลาดกลุ่ม Gen Z  พบว่ามีหลากหลายแบรนด์ที่โฟกัส เรื่องเกม เช่น การทำ Collaboration Campaign การซื้อสินค้ารับโค้ด ซื้อไอเท็มพิเศษในเกม บางแบรนด์เป็นพาร์ทเนอร์ในเกมเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้า

ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถนำความสนใจของกลุ่มนี้ มาสร้าง คอนเทนท์ มาร์เก็ตติ้ง รวมถึงสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าได้เช่นกัน

การเข้าใจพฤติกรรมเชิงลึกของผู้บริโภค Gen ต่างๆ และ Subculture จะทำให้เลือกช่องทางการสื่อสารที่ตรงใจ ตรงกับสินค้าและแบรนด์ในการทำตลาด

3. Hack แผนการตลาดมีประสิทธิภาพหรือยัง

การดูว่าแผนการตลาดที่วางไว้ให้ผลคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพหรือไม่ ก็ต้องมาทำเช็คลิสต์หลักๆ คือ ดูกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงว่าเป็นใคร  Gen ไหน มีไลฟ์สไตล์อย่างไร เพราะหลังวิกฤติโควิดเกือบทุก Gen มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต่างกันแค่วัตถุประสงค์หรือแพลตฟอร์มที่ใช้ จึงต้องวิเคราะห์ว่าแต่ละ Gen มีจุดมุ่งหมายการใช้งานอย่างไร

ตัวอย่าง การใช้ “ไอจี” แต่ละ Gen ก็แตกต่างกัน โดย Gen Z และ Gen Y นิยมใช้ไอจีสตอรี่  ส่วน Gen X ใช้โพสต์คอนเทนต์ และช้อปปิ้ง  “ทวิตเตอร์” บางกลุ่มใช้เพื่อความบันเทิง บางกลุ่มใช้ติดตามข่าว

อีกความท้าทายของผู้ประกอบการมาจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและโซเชียล มีเดีย แพลตฟอร์มที่มีมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหรือกลุ่มเป้าหมายมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อสินค้า คือ ไม่ได้มีประสบการณ์แบบเส้นตรง (Linear คือ รับรู้ สนใจ ค้าหา ซื้อสินค้า) อีกต่อไป

ในยุคนี้ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องเริ่มจากการรับรู้แบรนด์ก่อนซื้อสินค้าเสมอไป ดูได้จาก แคมเปญดับเบิลเดย์ ของ อีมาร์เก็ตเพลสต่างๆ  ลูกค้าอาจไม่รู้จักแบรนด์ แต่กดซื้อจากโปรโมชั่นราคาที่จูงใจ หรือไม่จำเป็นต้องรักและชอบแบรนด์ก่อน แต่สามารถรักแบรนด์ได้จาก “แบรนด์ แอมบาสเดอร์” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวและสินค้าผ่านศิลปิน ดารา นักร้องที่กลุ่มเป้าหมายชื่นชอบ กลยุทธ์การตลาดที่จะเข้าถึงลูกค้า จึงเป็นรูปแบบ Omni-Customer Journey ผ่านเครื่องมือการตลาดต่างๆ ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงไลฟ์สไตล์

รู้จักเครื่องมือการตลาด KOL/ Influencer 5 กลุ่มมาแรง  

หนึ่งในเครื่องมือการตลาดที่ได้รับความนิยม ตลอดช่วง 3-4 ปีนี้ คือ KOL หรือ Influencer Marketing ตอบโจทย์การตลาดรูปแบบ Omni-Customer Journey  โดยแบ่ง KOL และ Influencer ได้ 5 กลุ่มหลัก

  1. Amplifier เน้นสร้างการรับรู้ (Awareness) เพราะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ที่รู้จักในวงกว้าง หรือเป็น ดารา เซเลบ ที่มีผู้ติดตามหลักล้านคน
  2. Branded Content Creator เน้น Awareness ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ลักษณะเฉพาะตัว ดึงดูดความสนใจของสินค้าและแคมเปญ สามารถนำแบรนด์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างคอนเทนต์
  3. KOL/Expert Specialist เน้นความเชี่ยวชาญ ความน่าเชื่อถือ การยอมรับในตัวอินฟลูเอนเซอร์จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจในสินค้าและแคมเปญ
  4. Ripple Effect การใช้ นาโน อินฟลูเอนเซอร์ จำนวนมาก แทรกซึมไปตามคอมมูนิตี้ต่างๆ เพื่อต่อยอดกระแสสร้างแรงกระเพื่อมและเสริมการรับรู้ในวงกว้างขึ้น
  5. Real User / Endorser เป็นกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ที่สะท้อนการใช้จริง เพื่อช่วยถ่ายทอดประสบการณ์ตรงช่วยเสริมความน่าเชื่อถือให้แบรนด์และตอบข้อซักถามในมุมของผู้บริโภค

4.Last Hack ธุรกิจวันนี้อาจไม่มีที่ยืนในวันหน้า คำตอบจึงอยู่ที่การเข้าใจลูกค้าและโอกาสตลาดใหม่

แม้วันนี้ธุรกิจต่างๆ จะผ่านวิกฤติไปได้ แต่คำถามที่รออยู่ คือ จะสร้างอนาคตที่ยั่งยืนต่อไปอย่างไร การตีโจทย์นี้ จึงอยู่ที่การเข้าใจลูกค้า จึงต้องเก็บข้อมูลลูกค้าอย่างถูกต้องเพื่อนำไปวิเคราะห์ให้ได้ผลจริง

คุณวิชิต คุณคงคาพันธ์ Head of CLMV Business Development กลุ่มบริษัทมีเดีย อินเทลลิเจนซ์ ย้ำว่าข้อมูลมากหรือน้อยไม่สำคัญ เพียงต้องมีข้อมูลที่ “ใช่” และนำไปวิเคราะห์ได้ “ตรง” กับโอกาสธุรกิจ นั่นคือแผนที่ความยั่งยืนของธุรกิจ

การดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล ที่ผู้บริโภคมีความต้องการซับซ้อนมากขึ้น เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสถานการณ์โควิด จึงมีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมหรือ รู้จักลูกค้าของตัวเองให้มากที่สุด ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ดิจิทัลมีเดีย ที่ช่วยติดต่อสื่อสาร สร้างประสบการณ์ และมอบข้อเสนอที่เหมาะกับลูกค้าได้อย่างแม่นยำ

Data Driven Strategy คือกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล ในองค์กรใหญ่ๆ มีการใช้บิ๊กดาต้า ที่เกิดจากการเก็บข้อมูลฐานลูกค้ามาใช้ประโยชน์ แต่เรื่องการจัดเก็บข้อมูล ไม่ได้เป็นเรื่องขององค์กรใหญ่เท่านั้น  เพราะ Data ไม่ว่าจะ Big หรือ Small  ล้วนมีความสำคัญ ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ประโยชน์ ได้มากน้อยแค่ไหน

ในมุมของ SMEs การจัดเก็บข้อมูลลูกค้า แม้เป็นดาต้าไม่ใหญ่มาก แต่สามารถนำมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ในการเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจได้เช่นกัน

ผู้ประกอบการ SMEs อาจเริ่มจากการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นพื้นฐาน เช่น ข้อมูลลูกค้า  พฤติกรรมการซื้อสินค้า เพื่อคาดการณ์ความต้องการซื้อสินค้า และการจัดการสินค้าคงคลัง หรือการวิเคราะห์เชิงลึกด้านพฤติกรรมและความชอบของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพื่อเสนอสินค้าและบริการ ได้อย่างถูกที่ ถูกเวลา และถูกใจ  เป็นแนวทางการสร้างทำงานจากการใช้ดาต้าที่มีการเก็บอย่างสม่ำเสมอ สร้างระบบการประเมิน และตัดสินใจได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว

 

ประโยชน์ของ Data Driven Marketing 

  1. รู้จักลูกค้ามากขึ้น เข้าใจรูปแบบการซื้อ เพื่อนำมาใช้ต่อยอดใช้งานได้ทันที แทนที่จะใช้เวลาลองผิดลองถูก
  2. ช่วยพัฒนาสินค้า หรือเลือกสินค้ามาขายได้อย่างตรงความต้องการของลูกค้ามากขึ้น หลังจากได้ศึกษาพฤติกรรมการซื้อแล้ว พบว่าสามารถเสนอสินค้าที่เชื่อมโยงกันได้ เช่น หากพบว่าลูกค้าซื้อ ผ้าเช็ดตัวแบบแห้งเร็วและกระเป๋ากันน้ำ ก็คาดการณ์ได้ว่าลูกค้ากลุ่มนี้กำลังซื้อสินค้าเพื่อไปเที่ยวทะเล อาจนำเสนอสินค้าประเภท ครีมกันแดด แว่นกันแดด เพิ่มเติมได้
  3. ช่วยตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ ด้วยพลังของดาต้า จะช่วยให้รู้ว่าควรขยับไปทางไหน ตรงไหนที่จะขายสินค้าได้ เช่น ลูกค้าที่ซื้อแต่เสื้อผ้าสีสันฉูดฉาด หากยิงโฆษณาเสื้อผ้าสีโทนเข้มขรึมไปให้กลุ่มนี้ ก็ยากที่จะโดนใจ ในขั้นตอนนี้ ดาต้าจึงช่วยเรื่องการลดความสูญเสียจากการลงทุนในสื่อ ลดการเก็บสต็อกจากความแม่นยำในการผลิตและขาย
  4. ช่วยในการแข่งขันราคา เมื่อเข้าใจลูกค้ามากขึ้น ก็สามารถเพิ่มสต็อกสินค้าขายดี และเมื่อสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น ก็สามารถต่อรองราคาต้นทุนได้ และได้เปรียบในการตั้งราคาขาย
  5. ช่วยสร้างประสบการณ์ส่วนตัว โดยเฉพาะลูกค้าคนสำคัญ หรือลูกค้าประจำ จากการจัดการข้อมูลและการใช้สื่อดิจิทัล ช่วยให้สามารถทำ Personalized Marketing นำเสนอโปรโมชั่น พริวิเลจที่โดนใจได้แม่นยำ ทำให้คุ้มค่าเม็ดเงินการทำตลาดมากขึ้น

การเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจไม่ว่า SMEs หรือองค์กรใหญ่ การเก็บข้อมูล ทำสถิติ วิเคราะห์ เพื่อเข้าใจลูกค้าว่าชอบอะไร และนำเสนอสินค้าที่ใช่ ในเวลาและช่องทางที่เหมาะสม จะสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน จากการใช้ประโยชน์ของด้าต้า

  • เปลี่ยน Data เป็น Insight
  • เปลี่ยน ผู้เข้าชม เป็น ลูกค้า
  • เปลี่ยน ลูกค้า เป็น ลูกค้าประจำ
  • เปลี่ยน ลูกค้าประจำ เป็น กระบอกเสียง (สาวก) ที่พร้อมบอกต่อเรื่องราวดีๆ ของสินค้าและแบรนด์

อีกความยั่งยืนของการทำธุรกิจ คือ การมองหาตลาดใหม่ๆ สร้างโอกาสให้ธุรกิจจากการขยายฐานลูกค้ากลุ่ม CLMV เป็นกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตสูง ลักษณะสังคม ค่านิยม วิถีชีวิต พฤติกรรมของประชากรในกลุ่ม CLMV นิยมและเชื่อมั่นในสินค้าจากประเทศไทย

ผู้ประกอบการไทยจึงมีโอกาสในการทำตลาด CLMV ที่มีกำลังซื้อมหาศาล จากจำนวนประชากรและการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์

– กัมพูชา ประชากร 17 ล้านคน ใช้อินเทอร์เน็ต 70%

– ลาว ประชากร 7.4 ล้านคน ใช้อินเทอร์เน็ต  53%

– เมียนมา ประชากร 54.9 ล้านคน ใช้อินเทอร์เน็ต 43%

– เวียดนาม ประชากร 98.4 ล้านคน ใช้อินเทอร์เน็ต 70%

เห็นได้ว่า CLMV เป็นอีกตลาดที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและโซเชียล มีเดียเติบโตสูง ไม่ต่างจากประเทศไทย จึงเป็นอีกตลาดให้ผู้ประกอบการไทยขยายธุรกิจได้

 

สรุป 6 เทรนด์สร้างแบรนด์และองค์กรในยุคดิจิทัลที่ SMEs ต้องรู้ สำหรับปี 2022 
1.กระแสรักษ์โลก กลายเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกเรา ซึ่งธุรกิจยุคใหม่ก็ยังคงต้องเกาะกระแสรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม เดินหน้ากิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อให้ลูกค้าภักดีต่อสินค้า เนื่องจากลูกค้ายุคใหม่จะชื่นชอบแบรนด์ที่ให้ความสำคัญต่อโลก จนบางแบรนด์ต้องยกเลิกใช้สัตว์ทดลองทุกชนิดเพราะว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภครักษ์โลกใส่ใจมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ โลกร้อน 16.9% ขยะพลาสติก 14.8% มลพิษทางน้ำ 9.7% ภาวะขาดแคลนแหล่งน้ำ 8.5% มลพิษทางอากาศ 8.4%

2.ตลาด Generation Z ยังคงมีอิทธิพลต่อกระแสสังคมสูง และในอนาคตจะเป็นช่วงอายุที่มีกำลังซื้อสูง กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องการสร้างค่านิยมใหม่ๆ ที่จะช่วยให้สังคมน่าอยู่ขึ้นไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ความเท่าเทียมทางเพศ เป็นต้น

3.สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายด้วย Data SMEs อาจเริ่มจากการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นพื้นฐาน เช่น ข้อมูลลูกค้า พฤติกรรมการซื้อสินค้า เพื่อคาดการณ์ความต้องการซื้อสินค้า และการจัดการสินค้าคงคลัง หรือการวิเคราะห์เชิงลึกด้านพฤติกรรมและความชอบของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพื่อเสนอสินค้าและบริการ ได้อย่างถูกที่ ถูกเวลา และถูกใจ เป็นแนวทางการสร้างทำงานจากการใช้ดาต้าที่มีการเก็บอย่างสม่ำเสมอ สร้างระบบการประเมิน และตัดสินใจได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว

4.โครงการช่วยเหลือสังคม หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) สามารถสร้างคุณประโยชน์ให้เกิดกับแบรนด์และธุรกิจได้ในหลายๆ ด้าน ทั้งในเรื่องของการสร้างความเข้าใจ การสร้างความไว้ใจ ความศรัทราให้เกิดขึ้นในใจผู้บริโภค ซึ่งก็มีส่วนช่วยให้เกิดการสร้างความน่าเชื่อถือ ความมั่นใจให้กับแบรนด์หรือธุรกิจได้อย่างยั่งยืน และยังสามารถสร้าง Branding ได้อีกด้วย

5.ลูกค้าต้องการที่จะลองสิ่งใหม่ มองหาความคุ้มค่ามากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่คนในสังคมเจอในปัจจุบัน ผู้บริโภคจะพิจารณาการซื้อสินค้าอย่างรอบครอบ และถี่ถ้วนมากขึ้น จนอาจจะทำให้บางแบรนด์ขายสินค้าได้น้อย ดังนั้นควรเลือกทำสินค้าที่ทำให้ลูกค้าลูกสึกคุ้มค่าที่สุด เช่น การจัดโปรโมชัน หรือการทำให้สินค้าชิ้นนั้นพิเศษ หาไม่ได้จากที่ไหน

6.Hybrid Event คือสิ่งที่โลกต้องการ อีเว้นท์ลูกผสมที่ทำให้ระบบออฟไลน์และออนไลน์มาบรรจบกันตอบโจทย์ผู้เข้าร่วมงานบางส่วนที่ไม่สามารถเดินทางไปเข้าร่วมได้ ด้วยรูปแบบที่ผสมผสานระหว่างงานแบบพบปะกันตามปกติ (ออฟไลน์) และแบบออนไลน์ที่ยังคงสร้างสรรค์ได้หลายรูปแบบ (ออนไลน์) อีกทั้งยังประหยัดเวลา และเซฟสุขภาพของผู้ร่วมงานท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อีกด้วย


ที่มา : เพจ K SME และ www.brandbuffet.in.th