10 ขั้นตอนในการเริ่มเป็นผู้ประกอบการ

ไม่มีข้อจำกัดว่าคุณต้องเรียนจบ MBA จึงจะเป็นผู้ประกอบการที่ดีและประสบความสำเร็จ ปริญญาหลายๆ ใบก็ไม่ใช่สิ่งชี้วัดในทางใดสำหรับการเริ่มต้นทำธุรกิจ และนั้นหมายความว่า ถ้าคุณต้องการเริ่มต้นธุรกิจ ก็ต้องเริ่มจากการนับหนึ่งเช่นเดียวกัน และจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมาย แต่ถ้ามีมีแผนดี ก็ไม่ถึงกับเริ่มต้นจากศูนย์ และความสำเร็จก็อาจจะไม่ยากอย่างที่คิด 

1. ประเมินตนเองก่อนว่าต้องการเป็นผู้ประกอบการเพราะอะไร

เริ่มจากคำถามพื้นฐานที่สุด ทำไมคุณต้องการเริ่มธุรกิจ ใช้คำถามนี้เพื่อทดสอบธุรกิจที่คุณต้องการเริ่มต้น หากคุณแต่ต้องการเงิน งานประจำอาจเป็นสิ่งที่แน่นอนมากกว่า แถมวันหยุดมากมาย เข้างาน 9 โมงเช้า เลิกงาน 6 โมงเย็นทุกวัน งานเบาๆ สบายๆ สิ้นเดือนได้เงิน

แต่ถ้าคุณอยากเป็นผู้ประกอบการ และทิ้งรายได้ที่แน่นอนจากเงินเดือน ก็ต้องเริ่มถามตัวเองอีกครั้ง คืออยากทำอะไร ทำไม  และตอบคำถามเหล่านี้และเขียนเป็นข้อๆ

  • คุณมีความสามารถอะไร
  • ความชอบของคุณคืออะไร
  • ความเชี่ยวชาญของคุณอยู่ที่ไหน
  • คุณมีเงินทุนเท่าไหร่และต้องการลงทุนเท่าไหร่ 
  • คุณพร้อมที่จะเป็นผู้ประกอบการและรับความเสี่ยงได้หรือไม่
  • ลองซื่อสัตย์กับตัวเองและตอบคำเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมาก่อน เพื่อที่คุณจะได้ประเมินตัวเองอย่างถูกต้อง

2. ไอเดียธุรกิจ

แน่นอนว่าใครๆ ที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจก็ต้องมีไอเดีย แต่...ความคิดของคุณน่าสนใจหรือไม่นั่น คุณเองอาจตอบตัวเองไม่ได้  ไอเดียที่ดีคือ ต้องแตกต่าง น่าสนใจ และตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านได้อย่างตรงจุด หมดยุคที่ต้องมาแข่งขันกันแบบเดิมๆ เพราะถ้าคุณเลือกแบบนั้น คุณจะไม่ใช่ผู้ประกอบการ แต่เป็นได้แค่เจ้าของธุรกิจ

การหาไอเดียใหม่ๆที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ หาจากความชอบ ตอบโจทย์จากข้อหนึ่งว่า ตัวคุณชอบอะไร สานต่อสิ่งที่ตอบ และต้องตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่ม จำไว้ว่าเริ่มใหม่ เราต้องไม่แมส เพราะถ้าแมส ทุนไม่หนา ก็จบไวกว่าใจคิด   

3. สำรวจตลาด

ตามที่ระบุในข้อสอง ธุรกิจจะไม่ทำตามในสิ่งที่ธุรกิจก่อนหน้านี้ทำแล้ว แต่จะทำธุรกิจที่คนอื่นๆ ทำแล้วแต่ทำให้ดีกว่า แตกต่างกว่า และตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านมากกว่า อย่าลืมสิ เราต้องไม่แมส ดังนั้นการบ้านที่คุณต้องทำในข้อนี้คือ ‘สำรวจตลาด’  เริ่มต้นด้วยการหาข้อมูลว่า ในตลาดกลุ่มสินค้าหรือบริการที่เราจะทำธุรกิจ ผู้เล่นในปัจจุบันเป็นอย่างไร มีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร และแยกแยะคู่แข่งในกลุ่มต่างๆ ให้ชัดเจน และลองวาดภาพว่าถ้าเป็นธุรกิจของเรา จะทำอย่างไรให้สามารถสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นจากคู่แข่งเหล่านี้ ...และอย่างลืมจดบันทึกไว้

4. ปรึกษาผู้รู้

ร้อยพันข้อมูลในหนังสือหรืออินเทอร์เน็ต รึจะสู้ ‘กูรู’ ที่สะสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมายาวนาน ดังนั้นจงให้ค่าประสบการณ์ให้มากในการทำธุรกิจ สิ่งที่ทำได้ในขั้นนี้คือ เฟ้นหาไอดอลสักคน คนที่เราคิดว่ามีความรู้และประสบการณ์มากพอที่จะสามารถสอบสนองข้อมูลที่เรามีได้ เพราะผู้เริ่มต้นทำธุรกิจส่วนใหญ่ขาดประสบการณ์ มองตลาดไปกระจ่าง ดังนั้นการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้รู้จึงเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจในช่วงต้นให้ราบรื่นได้อย่างดี

5. ผลิตภัณฑ์ทดลอง

ด้วยเทคโนโลยีสมัยนี้ ทำให้เราสามารถสร้าง Prototype หรือผลิตภัณฑ์ต้นแบบมาทดลองตลาด คุณอาจจะขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ หรือจากกลุ่มเป้าหมายโดยตรง และสรรหาคำตอบแบบตรงไปตรงมามาให้ได้ เช่น ชอบ หรือไม่ชอบ สินค้าหรือ บริการของคุณเพราะอะไร วิธีเก็บข้อมูลก็สามารถทำได้ตั้งแต่การสอบถามตรงๆ ให้กรอกแบบสอบถาม เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ และพัฒนาสินค้าต่อไป ที่สำคัญข้อดีของการทำธุรกิจสมัยนี้คือเทคโนโลยี นำมันมาใช้ให้เป็นประโยชน์

6. จดจัดตั้งธุรกิจอย่างเป็นทางการ

สิ่งจำเป็นในการขายสินค้า คือ การจดทะเบียนพาณิชย์ หรือ ทะเบียนการค้า คนที่สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้นั้นก็เป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลที่ทำธุรกิจทุกประเภท ยกเว้นพ่อค้า แม่ค้าแผงลอย ธุรกิจเพื่อการกุศลและศาสนา รวมถึงกิจการของกระทรวง ทบวง กรม มูลนิธิ สมาคม และสหกรณ์ โดยทะเบียนพาณิชย์เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กิจการว่า กิจการมีตัวตนและมีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่ง

แต่สำหรับนิติบุคคล เนื่องจากได้มีการกำหนดวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลอยู่แล้ว หากได้ระบุการค้าขายไว้ในวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลก็ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ในการจดจัดตั้งเป็นนิติบุคคลมีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณา เช่น รูปแบบการจด อาทิ ห้างหุ่นส่วน นิติบุคคลถือหุ้นคนเดียว หรือนิติบุคคลที่ถือหุ้นมากกว่า 3 คนขึ้นไป รวมทั้งสิ่งที่ต้องมีเมื่อจดจัดตั้งธุรกิจ เช่น ชื่อธุรกิจ ทะเบียนธุรกิจของคุณ หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีบัญชีธนาคาร เครื่องหมายการค้า  ลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตร ที่สำคัญอ่านเรื่องภาษีธุรกิจด้วย สำคัญมาก

7. แผนธุรกิจของคุณ

ทำธุรกิจต้องมีแผน แต่ถ้าจะดีต้องเรียนรู้การเขียนแผนธุรกิจให้เป็น ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน กล่าวได้ว่า แผนธุรกิจเป็นคำอธิบายที่เป็นลายลักษณ์อักษร จากว่าธุรกิจของคุณจะมีวิวัฒนาการจากเริ่มต้นไปจนถึงประสบความสำเร็จอย่างไร อาทิ เริ่มจากชื่อธุรกิจ ต่อด้วยคำอธิบายธุรกิจ คุณต้องการเริ่มธุรกิจแบบใด อุตสาหกรรมของคุณมีลักษณะอย่างไร ในอนาคตจะมีลักษณะอย่างไร

กลยุทธ์การตลาด ตลาดเป้าหมายของคุณคืออะไร และคุณขายดีที่สุดในตลาดนั้นได้อย่างไร

การวิเคราะห์การแข่งขัน อะไรคือจุดแข็งและจุดอ่อนของคู่แข่งของคุณ? คุณจะเอาชนะพวกเขาได้อย่างไร

แผนการออกแบบและพัฒนา ผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณคืออะไรและจะพัฒนาอย่างไร จากนั้นสร้างงบประมาณสำหรับผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นไว้อย่างไร

ทำเป็นแบบสรุปเพื่อให้สถาบันการเงินมองภาพแผนธุรกิจของคุณได้ชัดเจนมากขึ้น

8. เงินลงทุนและการจัดการเรื่องเงิน

ทำธุรกิจต้องใช้เงิน ส่วนใหญ่คนทำธุรกิจมักใช้เงินส่วนตัวในการเริ่มต้น และมักจะไม่พอ ดังนั้นจากแผนธุรกิจในข้อที่แล้วคุณจะทราบว่าธุรกิจใช้เงินเท่าไหร่ในการลงทุน และใช้เงินหมุนเวียนต่อเดือนเท่าไหร่ เพื่อหาข้อสรุปสำหรับสายป่านที่คุณจะอยู่ได้อย่างปลอดภัยในขัดสนกระแสเงินสด กูรูในด้านการเงินแนะว่า เงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจอาจจะต้องเตรียมไว้ถึง 6 เดือนแล้วแต่ประเภทธุรกิจ ดังนั้นถ้าคุณมีไม่พอ การขอสินเชื่อโอดีจากสถาบันการเงินก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

9. สร้างทีม

การเป็นผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีทีม และทีมงานที่ดีอาจเป็นกุญแจสำคัญทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ซึ่งแน่นอนว่าคุณไม่สามารถจะทำงานทุกด้านด้วยตัวเอง ดังนั้นการสร้างทีมโดยการเฟ้นหาผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เช่น การทำบัญชี การตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือบุคลากรอื่นๆ ที่จะมาช่วยให้งานคุณมีประสิทธิภาพมากขึ้น หมดยุคทำงานคนเดียว

10. ขยายธุรกิจ

เมื่อดำเนินการทำถึงจุดหนึ่ง คุณจะรู้สึกว่าธุรกิจสามารถแตกแขนกไปได้ต่อ ดังนั้นการขยายธุรกิจไปสู่กลุ่มใหม่ๆ หรือแม้แต่การขยายตลาดไปในพื้นที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน จะเกิดเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับธุรกิจของคุณได้ไปต่อ การขยายธุรกิจมีสิ่งที่ต้องพึงระวังมากมาย แต่ถ้าคุณทำตามมาทั้งสิบข้อ และได้ลงสนามธุรกิจมาถึงขั้นนี้แล้ว บางครั้งทฤษฎีก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องยึดถือมากนัก

ที่มา www.bangkokbanksme.com