เปิดบริษัทกับเพื่อน แบ่งเงินกันอย่างไร

ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย มีหลายธุรกิจที่เกิดจากเปิดบริษัทร่วมกันกับเพื่อนๆ แต่การทำธุรกิจร่วมกันกับเพื่อนไม่ได้มีแต่ข้อดีเสมอไป เพราะในอนาคตไม่มีอะไรการันตีว่าเราจะผิดใจกันกับเพื่อนหรือเปล่าแต่ถ้าวันนี้เราอยากทำธุรกิจร่วมกับเพื่อน สิ่งนึงที่อยากให้เข้าใจกันไว้ก่อน ก็คือ เรื่องการแบ่งส่วนแบ่ง ว่าเรามีวิธีการแบ่งส่วนแบ่งได้อย่างไรบ้าง จะได้ตกลงกันไว้แต่เนิ่นๆ ป้องกันการผิดใจกันในอนาคต


1. แบ่งปันผลตามสัดส่วนหุ้นที่ลง
แน่นอนว่าทุกๆ ธุรกิจต้องการเงินทุน เงินทุนสำหรับการก่อตั้งบริษัทเริ่มแรกจะมาจากส่วนที่เราและเพื่อนๆ ลงเงินร่วมกัน ดังนั้น พวกเราจึงมีฐานะเป็น “ผู้ถือหุ้น” ในบริษัท ตามกฎหมายแล้ว สัดส่วนของการแบ่งกำไรนั้นจะผันแปรอย่างชัดเจนตามสัดส่วนของผู้ถือหุ้น

ตัวอย่างเช่น

ถ้าบริษัทจัดตั้งด้วยหุ้นจดทะเบียน 10,000 หุ้น หุ้นละ 100 บาท รวมเป็นทุนจดทะเบียน = 10,000*100 =1,000,000 บาท ประกอบด้วย

  • นาย A = 5,000 หุ้น
  • นาย B = 3,000 หุ้น
  • นาย C = 2,000 หุ้น

และสมมติว่าในสองปีแรกทำกำไรสะสมได้และอยากแบ่งปันผลกันสัก 500,000 บาท เราจะแบ่งกำไรกันตามสูตรนี้
เงินปันผลต่อคน = เงินปันผลรวม * สัดส่วนหุ้นที่ถือ/จำนวน
หุ้นรวม

  • ทำให้นาย A ได้เงินปันผล = 500,000*5,000/10,000 = 250,000 บาท
  • นาย B ได้เงินปันผล = 500,000*3,000/10,000 = 150,000 บาท
  • นาย C ได้เงินปันผล = 500,000*2,000/10,000 = 100,000 บาท

ถ้าเรารู้วิธีการคิดเงินปันผล สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจตั้งแต่เนิ่นๆ คือ แต่ละคนจะตกลงเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นอย่างไรบ้าง เพราะนั่นหมายถึงจำนวนผลตอบแทนที่ได้รับ และเงินลงทุนที่ต้องลงมากันจริงๆ ในกิจการ

2. ใครทำงานก็รับเงินเดือนตอบแทน
ส่วนวิธีที่ 2 นอกเหนือจากการจ่ายปันผลตามสัดส่วนหุ้น คือ การตั้งเงินเดือนให้คนที่ทำงาน เพราะบริษัทไม่มีทางรันได้ถ้าไม่มีคนบริหาร เพราะฉะนั้น การตกลงกันก่อนว่าจะให้ใครเป็นกรรมการบริหารก็เป็นเรื่องสำคัญ และคนที่ทำงานก็ควรได้รับผลตอบแทน นอกเหนือจากเงินปันผลด้วย และในบางกรณีหุ้นส่วนคนนั้นอาจจะไม่ใช่พนักงานประจำ เพราะช่วยงานเป็นครั้งคราว หรือเป็นจ๊อบๆ ไป เค้าก็ควรได้รับผลตอบแทนตามจ๊อบนั้นเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น บริษัทตกลงกันว่าให้นาย A เป็นกรรมการ บริหารงานทั้งหมดในบริษัท และโดยมีนาย C ทำงานวางระบบบัญชีให้ขั้นต้น ฉะนั้น นาย A จึงได้รับผลตอบแทนเป็นเงินเดือนเดือนละ 15,000 บาท และนาย C ได้รับผลตอบแทนเมื่อทำงานเสร็จจำนวน 20,000 บาท และเงินเดือน 15,000 บาท กับค่าจ้างงานนาย C 20,000 บาท นี้จะถือเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการ นำไปหักกลบกับรายได้ และสุดท้ายเหลือกำไรสุทธิเท่าไร ค่อยไปแบ่งกันตามวิธีเงินปันผลข้อ 1 อีกที

เมื่อวิธีการแบ่งเงินในธุรกิจแล้ว คราวนี้ถ้าเปิดบริษัทร่วมกับเพื่อน คุยกันให้ชัด 2 เรื่อง คือ 1.เงินลงทุน 2.เงินเดือน ก่อนเริ่มต้นจะได้ร่วมงานกันอย่างสบายใจ ไม่ผิดใจจนเสียเพื่อนแน่นอน

 

ที่มา Zero to Profit