อ่านงบการเงินเป็น เห็นภาพธุรกิจชัด

Big Data คือขุมทรัพย์ของโลกธุรกิจ ใครมีข้อมูลและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่มหาศาลได้มากกว่า ย่อมได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยเฉพาะข้อมูลที่ใช้ประมวลผลกิจการทั้งหมดซึ่งแสดงออกมาในรูปของ งบการเงิน

หากคิดจะดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และคว้าโอกาสแห่งความสำเร็จให้อยู่มือ SME ต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลงบการเงิน แม้จะทำบัญชีไม่เป็น ก็ต้องรู้จักตั้งคำถาม และอ่านงบการเงินของธุรกิจตนให้ออก 

 

ข้อมูลที่ถูกต้อง สะท้อนปัจจุบันและอนาคต
ข้อมูลในงบการเงินจะมีประโยชน์ หากข้อมูลนั้นมีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องจัดทำบัญชีเล่มเดียว ที่จะเป็นกระจกสะท้อนความเข้มแข็งของฐานะการเงิน และการเติบโตของผลการดำเนินงานที่แท้จริงของผู้ประกอบการ SME 
"แม้เนื้อหาสาระของงบการเงินจะเป็นข้อมูลที่สรุปจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต แต่มันก็มีข้อมูลบางอย่างที่ช่วยให้คนทำธุรกิจสามารถเห็นภาพการจัดการภายในปัจจุบัน รวมทั้งเห็นแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในอนาคต ซึ่งสามารถนำไปจัดทำเป็นแผนธุรกิจ (Business Plan) ต่อไปได้ ทั้งนี้ แผนธุรกิจที่ดีต้องมีข้อมูลงบการเงินเป็นตัวสนับสนุนเสมอ”

ขณะเดียวกัน การจัดทำบัญชีที่ดียังช่วยส่งสัญญาณเตือนภัยได้ด้วย หากคนทำธุรกิจเข้าใจและอ่านงบการเงินขาด

“อยากให้ SME ลองกลับไปดูเงินสดที่ถือในการหมุนเวียนธุรกิจว่ามีจำนวนเงินเท่าไร เงินมากหรือน้อยไม่ใช่เรื่องสำคัญ ประเด็นสำคัญคือ คุณได้กำหนดการถือวงเงินไว้อย่างเหมาะสมแล้วหรือยัง เช่น ถือเงินหมุนเวียนไว้ 1 แสนบาท แต่ใช้จริงไม่เกิน 50,000 บาท ส่วนเกินที่เกิดขึ้นมันเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาตามมาในอนาคต เช่น การทุจริต หรือการมีลูกหนี้การค้ามากหรือน้อยไม่สำคัญ สำคัญว่าต้องบริหารการเก็บเงินให้ดี เพราะถ้าเก็บเงินไม่ได้ ธุรกิจจะมีปัญหา”

เชื่อว่า SME ทุกคนต้องการนำพาธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ข้อมูลในงบการเงินสามารถบอก SME ได้หมดว่า ธุรกิจมีผลประกอบการที่ดี มีสภาพคล่องที่เพียงพอ และบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสมหรือไม่ ล่าสุดได้มีการออกเป็นข้อกำหนดว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เจ้าของธุรกิจสามารถใช้บัญชีเล่มเดียวกับที่ยื่นให้กรมสรรพากรนี้ เป็นข้อมูลสำคัญในการกู้ยืมเงิน ซึ่งปัจจุบันสถาบันการเงินก็พร้อมให้การสนับสนุนองค์กรธุรกิจที่จัดทำงบการเงินอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา

 

เข้าใจ 5 คำ ก่อนอ่านงบการเงิน
การอ่านงบการเงินจะเป็นเรื่องง่ายดาย หากเจ้าของธุรกิจเข้าใจความหมายของ 5 คำที่เป็น Key Words สำคัญนี้ก่อน เพราะในการจัดทำบัญชีงบการเงิน จะต้องนำข้อมูลธุรกิจที่เกิดขึ้นมาบันทึกบัญชีใน 5 หมวดหลักนี้ ประกอบด้วย    

  • สินทรัพย์ คือ สิ่งที่มีประโยชน์ต่อเนื่อง และมีมูลค่าแปลงเป็นเงินสดได้ เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร ค่าอุปกรณ์สำนักงาน หรือสิ่งที่ไม่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ แต่มีประโยชน์ต่อเนื่อง เช่น ค่าสินค้าจ่ายล่วงหน้า   
  • หนี้สิน คือ ภาระผูกพันที่ต้องจ่ายชำระในอนาคต เช่น เงินเบิกเกินบัญชีธนาคาร ค่าไฟฟ้า-ค่าน้ำค้างจ่าย
  • ทุน คือ ทรัพยากรของกิจการ เช่น หุ้นสามัญ
  • รายได้ คือ การได้มาที่เพิ่มขึ้นซึ่งไม่มีภาระผูกพัน เช่น รายได้จากการขายสินค้า ดอกเบี้ยรับ รายได้อื่น หรือการลดลงของภาระผูกพันที่ไม่ต้องจ่ายชำระ เช่น การที่เจ้าหนี้ยอมยกหนี้สินให้ เท่ากับเป็นรายได้ที่เพิ่มเข้ามา โดยไม่ต้องจ่ายเงินออกไป
  • ค่าใช้จ่าย คือ สิ่งที่ไม่มีประโยชน์ต่อเนื่อง มูลค่าลดลงตามสภาพหรือทยอยหมดประโยชน์ เช่น เงินเดือน ค่าเช่าโกดัง
    ทั้งนี้ สินทรัพย์ หนี้สินและทุน จะแสดงอยู่ใน งบแสดงฐานะการเงิน ส่วนรายได้และค่าใช้จ่ายจะใส่อยู่ใน งบกำไรขาดทุน

“หากจะอ่านผลการดำเนินงานที่แท้จริงของธุรกิจ แนะนำให้ตัด รายได้อื่น ออกไปก่อน แล้วหารายได้หลักให้เจอ เพราะรายได้อื่นคือความไม่แน่นอน อาจทำให้เรามองภาพผลการดำเนินงานผิดไป เหมือนว่าจะดีแต่อาจไม่ดีก็ได้ เช่นเดียวกับ กำไร จำไว้เสมอว่ากำไรเป็นเพียงตัวเลขเท่านั้น คุณต้องหาตัวเงินให้เจอ ส่วนใหญ่ก็อยู่ในลูกหนี้การค้ากับสินค้าคงคลังนั่นเอง”

 

อ่านงบการเงินขาด เพื่อคุณภาพของธุรกิจ
เรื่องการประมวลผลข้อมูลทางการเงิน คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักบัญชีไป แต่ในฐานะเจ้าของธุรกิจ SME มีหน้าที่อ่านงบการเงิน ตั้งคำถาม และมองภาพธุรกิจให้ออก

ยกตัวอย่างเช่น งบแสดงฐานะการเงินระบุว่าบริษัทมีสินทรัพย์หมุนเวียนเร็ว 8,550,000 บาท มีหนี้สินหมุนเวียน 2,700,000 บาท หากดูตัวเลขเพียงผิวเผิน เหมือนบริษัทจะมีสภาพคล่อง แต่ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ต้องระมัดระวัง หากสามารถบริหารการเก็บเงินลูกหนี้การค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงจะจัดว่าสภาพคล่องธุรกิจอยู่ในโซนปลอดภัย

แต่ถ้าจะอ่านข้อมูลให้ลึกกว่านั้น ให้ดูสินทรัพย์ 2 ตัว คือ เงินสดและเงินฝากธนาคาร แล้วเปรียบเทียบกับหนี้สิน หากหนี้สินมากกว่า ธุรกิจก็มีความเสี่ยง หากสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน ก็อย่าเพิ่งประมาท ต้องดูให้รอบคอบว่าหนี้สินหมุนเวียนนั้นได้รวมต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) แล้วหรือไม่ เพราะนั่นคือเงินที่ต้องจ่ายออกไปในอนาคต

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เจ้าของธุรกิจมักจะดูสรุปผลการดำเนินงานและฐานะการเงินปีละ 1 ครั้ง เพราะกฎหมายกำหนดให้บริษัทปิดบัญชีเป็นประจำปี แต่ถ้าต้องการคุณภาพในการบริหารงานแล้ว กูรูกล่าวว่า การพิจารณาข้อมูลทางการเงินเป็นรายปีอาจยังไม่เพียงพอ หากเป็นไปได้ควรดูเป็นประจำเดือน หรืออย่างน้อยเป็นรายไตรมาส เรียกว่ายิ่งถี่ ยิ่งดีนั่นเอง

“คุณภาพของการจัดทำงบการเงิน คุณภาพของนักจัดทำบัญชี ถือเป็นส่วนหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องลงทุน นี่อาจเป็นข้อเสียของการจัดทำบัญชีเล่มเดียว คือ คุณต้องลงทุน แต่มันก็เป็นข้อเสียที่ช่วยเสริมประโยชน์ให้กับธุรกิจได้อย่างมากทีเดียว” 

 

ที่มา www.kasikornbank.com