วิธีการบริหารต้นทุนฐานกิจกรรม กลยุทธ์ในการจัดการกิจกรรม

วิธีการบริหารต้นทุนฐานกิจกรรม เรื่อง กลยุทธ์ในการจัดการกิจกรรม

ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง แต่ละกิจการต้องทำการปรับปรุงกิจกรรมอย่างต่อเนื่องด้วยการลดความสูญเปล่า หรือกิจกรรมที่ไม่สร้างคุณค่าให้หมดไปหรือให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อทำให้เกิดการลดต้นทุนกลยุทธ์การบริหารกิจกรรม ทำได้ 4 วิธี คือ การกำจัดกิจกรรม การคัดเลือกกิจกรรม การลดกิจกรรม และการใช้กิจกรรมร่วมกัน

วิธีที่ 1 การกำจัดกิจกรรม (Activity Elimination)

การกำจัดกิจกรรม จะมุ่งเน้นการตัดกิจกรรมที่ไม่เพิ่มมูลค่า เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นแต่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่าแก่ผลิตภัณฑ์ ยกตัวอย่างเช่น กระบวนการตรวจสอบชิ้นส่วนที่ได้รับการส่งมอบจากผู้ขายวัตถุดิบ ซึ่งจะดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าที่ผลิตใช้สินค้าตรงตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ การใช้วัตถุดิบที่ด้อยคุณภาพทำให้ส่งผลเสียหายต่อตัวสินค้าของกิจการตามไปด้วย อย่างไรก็ดี กิจการควรเลือกผู้ขายวัตถุดิบที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นผู้ขายที่มีคุณภาพตั้งแต่แรก ก็จะสามารถลดกระบวนการตรวจคุณภาพชิ้นส่วนที่รับมอบจากผู้ขายออกไปได้และทำให้ต้นทุนลดลงได้ตั้งแต่กระบวนการสั่งซื้อวัตถุดิบ

กิจการอาจไม่สามารถยกเลิกกิจกรรมที่ไม่เพิ่มมูลค่าได้ทั้งหมด สิ่งที่ทำได้คือการลดกิจกรรมที่ไม่เพิ่มมูลค่าให้เหลือน้อยที่สุดและลดกิจกรรมที่ไม่เพิ่มมูลค่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้การลดต้นทุนที่ไม่มีคุณภาพได้อย่างยั่งยืน

วิธีที่ 2 การคัดเลือกกิจกรรม (Activity Selection)

การคัดเลือกกิจกรรม เป็นกลยุทธ์การแข่งขันในการผลิตสินค้าแต่ละชนิดจะใช้กลุ่มของกิจกรรมต่างกัน เช่น กลยุทธ์การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน จะส่งผลทำให้ต้นทุนต่างกันด้วย ดังนั้น การออกแบบสินค้าควรเลือกการออกแบบสินค้าที่ใช้ชุดของกิจกรรมที่มีต้นทุนต่ำสุด โดยใช้กิจกรรมที่มีอยู่เดิม เนื่องจากพนักงานมีความคุ้นชินกับกระบวนการเป็นอย่างดีอยู่แล้ว และท้ายที่สุดทำให้เกิดการลดต้นทุนลง

วิธีที่ 3 การลดกิจกรรม (Activity Reduction)

การลดกิจกรรม เป็นการลดจำนวนครั้งในการทำกิจกรรม รวมถึงการลดเวลาและทรัพยากรที่ใช้ในการทำกิจกรรมแต่ละครั้ง เพื่อให้เกิดการลดต้นทุน และทำให้เกิดการปรับปรุงกิจกรรมที่ไม่เพิ่มคุณค่า ก่อนที่จะขจัดกิจกรรมนั้นออกไป เช่น กิจกรรมการปรับตั้งเครื่องจักรเพื่อลดเวลาและทรัพยากร ทำให้ระยะเวลาการใช้เครื่องจักรลดลง และต้นทุนรวมลดลง

วิธีที่ 4 การใช้กิจกรรมร่วมกัน (Activity Sharing)

การใช้กิจกรรมร่วมกัน เป็นการทำให้เกิดการประหยัดของขนาด (Economy of Scale) โดยเฉพาะการมีปริมาณตัวผลักดันต้นทุนเพิ่มขึ้นโดยที่ต้นทุนของกิจกรรมไม่เพิ่มขึ้น ในท้ายที่สุดจะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยตัวผลักดันต้นทุนที่ปันส่วนเข้าสู่สินค้าหรือบริการลดลง เช่น การออกแบบสินค้าชิ้นใหม่ ทำให้สามารถใช้ชิ้นส่วนที่มีไว้เพื่อใช้ผลิตสินค้าตัวอื่นด้วย โดยไม่มีการเปลี่ยนชุดกิจกรรมในการผลิต และทำให้ต้นทุนรวมลดลง

ที่มา www.live-platforms.com เรียบเรียงโดย : อาจารย์ธเรศ สันตติวงศ์ไชย, CPA ผู้ช่วยคณบดี และหัวหน้าสาขาวิชาการบัญชี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคกรุงเทพ เลขานุการคณะทำงานโครงการเครือข่ายหลักสูตรทางการบัญชีในประเทศไทยและอนุกรรมการกลั่นกรองปริญญาหรือประกาศนียบัตรในวิชาการบัญชี สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์